Kamikatsu เมืองปราศจากขยะ…เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่มีประชากรเพียง 1,500 คน และประชากรมากกว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุ พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เมืองปราศจากขยะเพราะต้องการลดอากาศพิษจากการเผาไหม้
ปัจจุบันปัญหาฝุ่นควันและโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกเราต้องเผชิญ และความรุนแรงดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
แต่ที่ญี่ปุ่นมีเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่มีประชากรเพียง 1,500 คน และประชากรมากกว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุ พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เมืองปราศจากขยะเพราะต้องการลดอากาศพิษจากการเผาไหม้
เมื่อ 20 ปีก่อน เมืองนี้เพิ่งสร้างเตาเผาขยะใหม่แต่กลับก่อให้เกิดควันพิษจากการเผาขึ้นมากมาย ประชาชนของเมืองนี้จึงประกาศความตั้งใจว่าจะทำให้เมืองปราศจากขยะโดยสิ้นเชิงในปี 2020 โดยมีการตั้ง Zero Waste Academy นำโดย คุณ Akira Sakano

วิธีในการลดขยะดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกับการแยกชยะทั่วไปโดยอาศัยหลัก Reduce (การลด) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะใช้ซ้ำได้แล้ว ซึ่งอาจจะฉีกขาด แตกหัก กลับไปเข้ากระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ)
การแยกขยะของเมืองนี้มีรายละเอียดมากกว่าการแยกขยะเป็นถังๆ ในแต่และสีทั่วไป คือ แยกขยะออกเป็นทั้งหมด 45 ประเภทเลยทีเดียวค่ะ!
โดยจะแบ่งกลุ่มใหญ่ๆ ออกเป็นขยะอาหาร โลหะ กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว ถาดอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องจักร แต่ยังแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น โลหะแบ่งย่อยเป็นอลูมิเนียมกับเหล็ก กระดาษแบ่งย่อยเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษกล่อง กระดาษกล่องที่เคลือบอลูมิเนียม ถ้วยกระดาษ เป็นต้น
Akira Sakano เล่าว่าในตอนแรกที่เริ่มโครงการนี้ คนในเมืองต่างต่อต้านและคิดว่าเป็นการวุ่นวาย เพราะนอกจากจะต้องทำความสะอาดขยะที่บ้านแล้วยังต้องนำมาแยกที่ศูนย์แยกขยะอีก ชาวบ้านคิดว่าหน่วยงานเทศบาลไม่ทำหน้าที่ของตัวเองและผลักภาระให้ชาวบ้าน จึงต้องมีการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านหลายครั้ง
แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มลงมือทำก็รู้ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด จึงเริ่มได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนเล็กๆ มาเป็นกลุ่มใหญ่ จนกลายเป็นทุกๆ คนในที่สุด
ปัจจุบันชาวบ้านจะเริ่มจากการแยกขยะเป็น 5-10 ประเภทที่บ้านก่อน และมาแยกที่เหลือที่โรงแยกขยะ และในปี 2018 ก็เหลือขยะเพียง 19% ที่ต้องส่งเข้าเตาเผา! เพราะกว่า 80% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ในหมู่บ้านจะมีร้านที่รวบรวมสินค้าสำหรับให้ยืม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ครัวเรือน และของจิปาถะ ที่ชาวบ้านสามารถหมุนเวียนมายืมไปใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ทุกเทศกาล และยังมีศูนย์เย็บปักถักร้อยที่มีการนำกิโมโนและเสื้อผ้าเก่าๆมาตัดเย็บทำเป็นสินค้าต่างๆ เช่น กล่องนามบัตร ที่ใส่ตะเกียบ ที่วางจาน ฯลฯ
สังคมที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะยังก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว คนแก่เมืองอื่นๆ มักมีปัญหาว่าไม่มีคนดูแลจนรู้สึกเหงา แต่ผู้สูงอายุชาว Kamikatsu มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดีโดยกิจกรรมการแยกขยะที่ศูนย์ ชาวบ้านยังรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นว่าความพยายามของทุกคนช่วยลดขยะได้อย่างไรบ้าง และยังสามารถนำขยะบางส่วนไปขายนำรายได้เข้าเมืองได้อีกด้วย
ในปัจจุบันเมืองเล็กๆ แห่งนี้กลับมีผู้มาเยือนมากมายเพื่อที่จะเรียนวิธีการแยกขยะ ทำให้ร้านค้า โรงแรมของเมืองพลอยได้รับผลดีไปด้วยค่ะ
ติดตามอ่านเรื่องราวการทำธุรกิจด้วยใจรักจนประสบความสำเร็จได้ในหนังสือ “Japan Success ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยใจรัก” และ หนังสือจิตวิทยาความรักความสัมพันธ์ “เมื่อจิตวิทยา ทำให้คนรักกัน” สามารถพูดคุยสื่อสารกับพิชชารัศมิ์ได้ที่ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์
เรื่องแนะนำ :
– ตะลุยเที่ยว 3 จังหวัดบนเกาะชิโกกุ (Shikoku) ตอนที่ 1 “Kagawa”
– ตะลุยเที่ยว 3 จังหวัดบนเกาะชิโกกุ (Shikoku) ตอนที่ 2 “Ehime”
– 10 สถานที่ว๊าวๆ ใน Tokushima ที่ต้องไปให้ได้
– ตลาดวันอาทิตย์ที่มีมากว่า 300 ปี ของจังหวัดโคจิ
– Umaji หมู่บ้านส้มยูสุที่โด่งดังได้เพราะความมุ่งมั่นไม่ท้อถอย
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.weforum.org/agenda/2019/01/the-inspiring-thing-that-happened-when-a-japanese-village-went-almost-waste-free/
#Kamikatsu เมืองปราศจากขยะ